Wy/th/อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

< Wy‎ | th
Wy > th > อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

อุทยานแห่งชาติภูกระดึงตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ 348.12 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด มีความสูงอยู่ระหว่าง 400-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเนื่องจากมีธรรมชาติที่โดดเด่นสวยงามงาม และความหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุด

เฉพาะแหล่งท่องเที่ยวบนยอดเขาภูกระดึงมีการปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-30 กันยายนของทุกปี และเปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม-31 พฤษภาคมของทุกปี[1]

เส้นทางขึ้นสู่ยอดภูกระดึง edit

เส้นทางขึ้นที่อำเภอภูกระดึง edit

เป็นเส้นทางเก่าแก่และได้รับความนิยมมากที่สุดนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเขาในเส้นทางนี้ได้ที่อำเภอภูกระดึง ณ ที่ทำการอุทยาน มีระยะทางประมาณ 5.5 กม.จากที่ทำการถึงหลังแป ในเส้นทางขึ้นจะมีบริเวณที่พักหลายช่วง เมื่อไล่ตามระดับความสูงจากที่ทำการถึงหลังแปได้ดังนี้[2]

  • ปางกกค่า คำว่า "ปาง" มาจากคำว่า " ป๋าง " ในภาษาท้องถิ่นหมายถึงสถานที่พักแรม ระยะทางที่ต้องเดินจากที่ทำการไปยังปางกกค่ายาวประมาณ 800 เมตร
  • ซำแฮก คำว่า "ซำ" ซึ่งหมายถึงบริเวณที่มีพื้นที่ที่มีน้ำซับหรือน้ำใต้ดินผุดขึ้นสู่ผิวดิน มักเป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่ามาพักกินน้ำ ส่วนคำว่า "แฮก" นักท่องเที่ยวทั่วไปมักล้อเลียนว่ามีความหมายถึงอาการหอบซึ่งคนเรามักจะออกเสียง "แฮกๆ" แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำว่า "แฮก" นี้หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในภาษาท้องถิ่นคือมีผีตาแฮกหรือผีเจ้าป่าเจ้าเขาคุ้มครองอยู่ บริเวณนี้มีร้านค้าคอยบริการ เป็นเส้นทางที่มีความชันมาก ระยะทางที่ต้องเดินจากปางกกค่าไปยังซำแฮกยาวประมาณ 200 เมตร
  • ซำบอน หมายถึงบริเวณที่ต้นบอนขึ้นอยู่มาก ระยะทางที่ต้องเดินจากซำแฮกไปยังซำบอนยาวประมาณ 700 เมตร
  • ซำกกกอก หมายถึงบริเวณที่ต้นมะกอกขึ้นอยู่มาก บริเวณนี้มีร้านค้าคอยบริการ ระยะทางที่ต้องเดินจากซำบอนไปยังซำกกกอกยาวประมาณ 360 เมตร
  • ซำกอซาง หมายถึงบริเวณที่ไผ่ซางขึ้นอยู่มาก ระยะทางที่ต้องเดินจากซำกกกอกไปยังซำกอซางยาวประมาณ 200 เมตร
  • พร่านพรานแป เป็นจุดที่พรานป่าในอดีตจะตั้งศาลเพียงตาทำพิธีไหว้เจ้าป่าเจ้าเขาขอเข้าไปล่าสัตว์หาของป่าและให้กลับมาอย่างปลอดภัย บริเวณนี้มีร้านค้าคอยบริการ ระยะทางที่ต้องเดินจากซำกอซางไปยังพร่านพรานแปยาวประมาณ 240 เมตร
  • ซำกกหว้า หมายถึงบริเวณที่ต้นหว้าขึ้นอยู่มาก ระยะทางที่ต้องเดินจากพร่านพรานแปไปยังซำกกหว้ายาวประมาณ 440 เมตร
  • ซำกกไผ่ หมายถึงบริเวณที่ต้นไผ่ขึ้นอยู่มาก ระยะทางที่ต้องเดินจากซำกกหว้าไปยังซำกกไผ่ยาวประมาณ 460 เมตร
  • ซำกกโดน หมายถึงบริเวณที่ต้นกระโดนซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นทางอีสานขึ้นอยู่ บริเวณนี้มีร้านค้าคอยบริการ ระยะทางที่ต้องเดินจากซำกกไผ่ไปยังซำกกโดนยาวประมาณ 300 เมตร
  • ซำแคร่ ระยะทางที่ต้องเดินจากซำกกโดนไปยังซำแคร่ยาวประมาณ 480 เมตร

หลังจากถึงซำแคร่ซึ่งเป็นซำสุดท้ายนักท่องเที่ยวก็ต้องเดินขึ้นไปอีกประมาณ 1,300 เมตร เพื่อเข้าสู่ยอดเขาในส่วนที่เรียกกันว่าหลังแป เป็นเส้นทางที่มีความชันมากที่สุด หลังจากขึ้นถึงหลังแปนักท่องเที่ยวต้องเดินทางราบอีกประมาณ 3.6 กม. เพื่อไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบนยอดเขาซึ่งเป็นที่พัก ทิวทัศน์สองข้างทางจะเป็นป่าสนเขาสลับทุ่งหญ้า

เส้นทางขึ้นที่อำเภอน้ำหนาว edit

นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นไปยังยอดเขาภูกระดึงได้ที่บ้านฟองใต้อำเภอน้ำหนาว ซึ่งเป็นเส้นทางขึ้นเขาเส้นทางใหม่ โดยจะขึ้นไปที่ผาหล่มสักโดยตรง มีระยะมีระยะทาง 4 กิโลเมตรจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลย.5 (หนองผักบุ้ง) ถึงยอดเขาและเดินอีก 1.2 กม.ก็จะถึงผาหล่มสัก[3]

กระเช้าไฟฟ้า edit

โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงซึ่งได้เงียบหายไปหลายปีเนื่องจากการคัดค้านจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะนักอนุรักษ์ ปัจจุบันได้รับการผลักดันโครงการอีกครั้งทั้งที่ผลสำรวจนักท่องเที่ยวเกือบ 70% นั้นไม่เห็นด้วย คาดว่าแนวเส้นทางการก่อสร้างกระเช้คือจุดเริ่มต้นจากบริเวณที่ทำการอุทยาน ต.ศรีฐาน ถึงบริเวณหลังแป[4][5]

การท่องเที่ยวบนยอดเขาภูกระดึง edit

เส้นทางท่องเที่ยวบนยอดเขาภูกระดึงแบ่งออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือบริเวณท่องเที่ยวปกติ และบริเวณป่าปิด โดยบริเวณแหล่งท่องเที่ยวปกติก็จะแบ่งได้เป็นสองเส้นทางคือ เส้นทางน้ำตก และ เส้นทางเลียบผา ส่วนบริเวณป่าปิดก็จะแบ่งได้เป็น เส้นทางน้ำตกขุนพอง และ เส้นทางผาส่องโลก

เส้นทางน้ำตก edit

thumb|ก่วมแดงพืชสกุลเมเปิลที่พบบริเวณน้ำตก บนภูกระดึง เส้นทางเดินชมธรรมชาตินี้จะเดินไปพบน้ำตกเป็นหลัก แม้ว่าน้ำตกแต่ละแห่งบนภูกระดึงเป็นน้ำตกขนาดเล็กแต่ก็มีเสน่ห์อยู่ที่ความร่มรื่นของเส้นทางและความเขียวขจีของมอสที่เกาะบนก้อนหินในบริเวณลำธาร และต้นไม้ที่โดดเด่นที่สุดของภูกระดึงคือก่วมแดงพืชในสกุลเมเปิลซึ่งพบมากในบริเวณน้ำตกและลำธาร จะผลัดใบในช่วงกลางฤดูหนาวใบก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดงทั้งต้นแล้วก็ร่วงหล่นไปแดงอยู่ตามพื้นลำธารตัดกับสีเขียวของมอสบนก้อนหินริมลำธารสวยงามมาก

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่:

  • น้ำตกวังกวาง อยู่ห่างจากที่พักด้วยระยะทางประมาณ 1 กม.ลักษณะน้ำตกเป็นผาหินสูง 7 เมตร ตัดขวางลำธาร ธารน้ำไหลลงยังวังน้ำเบื้องล่าง ซึ่งมีลักษณะคล้ายโพลงถ้ำมุดลงไปและบริเวณป่าใกล้ๆเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงกวาง ซึ่งมักจะลงมากินน้ำที่น้ำตกแห่งนี้อยู่เสมอ จึงได้ชื่อว่า “วังกวาง” บริเวณน้ำตกสามารถลงเล่นน้ำได้[6]
  • น้ำตกเพ็ญพบใหม่ เป็นน้ำตกที่เกิดจากเกิดจากลำธารวังกวาง น้ำตกตกผ่านผาหินรูปโค้ง อยู่ห่างจากน้ำตกวังกวางประมาณ 700 เมตร
  • น้ำตกโผนพบ เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำธารวังกวางเช่นกัน อยู่ห่างจากตัวน้ำตกเพ็ญพบใหม่เพียง 600 เมตร น้ำตกมี 8 ชั้น สูงประมาณ 30 เมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สำหรับชื่อ “โผนพบ” ตั้งเป็นเกียรติแก่ โผน กิ่งเพชร นักชกแชมป์เปี้ยนโลกคนแรกของชาวไทยในฐานะเป็นผู้ค้นพบคนแรก เมื่อคราวที่ขึ้นไปซ้อมมวยเพื่อให้ชินกับอากาศหนาวก่อนเดินทางไปชกในต่างประเทศ[7]
  • น้ำตกเพ็ญพบ อยู่ห่างจากน้ำตกโผนพบประมาณ 600 เมตร เป็นน้ำตกที่ไม่สูงนัก ลำห้วยช่วงก่อนไหลลงน้ำตกเป็นลานหินกว้าง ลักษณะคล้ายแก่งที่เต็มไปด้วยหลุมกลม
  • น้ำตกถ้ำใหญ่ อยู่ห่างจากน้ำตกเพ็ญพบประมาณ 900 เมตร เส้นทางไปสู่น้ำตกจะปกคลุมไปด้วยป่าดิบเขาที่มีพรรณไม้ใหญ่และร่มครึ้มกว่าทุกเส้นทาง น้ำตกถ้ำใหญ่สวยงามแปลกตาด้วยโขดหินขนาดมหึมาวางทับซ้อนไม่เป็นระเบียบ
  • ลานหินบริเวณองค์พระพุทธเมตตา อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวางประมาณ 600 เมตร และอยู่ห่างจากน้ำตกถ้ำใหญ่ประมาณ 400 เมตร ลานหินบริเวณองค์พระนี้เป็นจุดชมพันธุ์ไม้บนลานหิน เช่น ดุสิตา กระดุมเงิน เอื้องม้าวิ่ง สำหรับพระพุทธเมตตาได้มีนายอำเภอวังสะพุงผู้หนึ่งขึ้นไปสร้างไว้เมื่อปี พ.ศ. 2463[8]
  • สระแก้ว อยู่ห่างจากลานหินบริเวณองค์พระพุทธเมตตา 700 เมตร อยู่ในส่วนต้นน้ำของลำธาร“ธารสวรรค์”ลักษณะเป็นวังน้ำลึกขนาดไม่กว้างนัก น้ำใสมากจนมองเห็นพื้นหินขาวสะอาด ต่อจากบริเวณสระแก้วมีทางเดินชมธรรมชาติผ่านลานหิน ซึ่งมีดอกหรีดสีม่วงอมน้ำเงินเกสรสีเหลือง ขึ้นอยู่เป็นทุ่งไปจนถึงผานาน้อย
  • สระอโนดาด อยู่ห่างจากลานหินบริเวณองค์พระพุทธเมตตา 1.7 กม. เป็นสระน้ำขนาดไม่ใหญ่นัก มีต้นสนขึ้นเป็นแนวแน่นขนัด ใกล้กันยังมีลานกินรีซึ่งเป็นสวนหินธรรมชาติที่อุดมไปด้วยพรรณไม้กินแมลงอย่างดุสิตา หยาดน้ำค้าง และเฟิน เช่น กระปรอกสิงห์
  • น้ำตกถ้ำสอเหนือ อยู่ห่างจากสระอโนดาด 1.5 กม. เป็นน้ำตกขนาดกลาง สูง 10 เมตร น้ำไหลมาจากผาเป็นม่านน้ำตก บริเวณเหนือน้ำตกมีดงกุหลาบแดงซึ่งจะออกดอกในช่วงฤดูร้อน
  • น้ำตกถ้ำสอใต้ อยู่ถัดจากน้ำตกถ้ำสอเหนือลงไปตามลำน้ำประมาณ 500 เมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่เกิดจากหน้าผาหินถล่มลงไป

เส้นทางเลียบผา edit

thumb|ทะเลหมอกยามเช้าที่ผานกแอ่น เนื่องจากภูกระดึงเป็นภูเขายอดตัด ชายขอบยกสูงจึงเกิดเป็นหน้าผาตลอดแนวเกิดเป็นจุดชมวิวต่างๆ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบนยอดเขาไปตามเส้นทางเลียบผา โดยจะผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงดังนี้

  • ลานพระแก้ว อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 1.6 กม.เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2463 เป็นลานหินที่กว้างมีพรรณไม้ดอกพวกดุสิตา เอื้องม้าวิ่ง ขึ้นอยู่ทั่วไป
  • ผานกแอ่น อยู่ทางทิศตะวันออก อยู่ห่างจากลานพระแก้วประมาณ 500 เมตร เป็นลานหินเล็กๆมีสนขึ้นโดดเด่นริมหน้าผาต้นหนึ่ง มองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างซึ่งเป็นท้องทุ่งและเทือกเขา และเห็นผานกเค้าได้ชัดเจน เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นบนภูกระดึงเพียงจุดเดียว ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นเป็นสวนหินมีดอกกุหลาบป่าขึ้นอยู่เป็นดงใหญ่ จะบานในเดือนมีนาคม-เมษายน[9]
  • ผาหมากดูก อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 2 กม. เป็นผาที่มีลานหินกว้างขวาง เป็นจุดสำหรับชมพระอาทิตย์ตกที่ใกล้ที่พักมากที่สุด สามารถมองเห็นภูผาจิตในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ในช่วงต้นฤดูฝนจะมีดอกกระเจียวขึ้นเต็มทุ่งตามเส้นทางสู่ผาหมากดูก
  • ผาจำศีล ที่ได้ชื่อนี้เพราะเคยมีพระมาจำศีลทางด้านล่าง อยู่ถัดจากผาหมากดูกเป็นระยะทางประมาณ 600 เมตร
  • ผานาน้อย อยู่ถัดจากผาจำศีลมาทางทิศตะวันตกระยะทาง 600 เมตร ผาแห่งนี้จะอยูใกล้เคียงกับหมู่บ้านนาน้อย
  • ผาเหยียบเมฆ ลักษณะเป็นลานหินขนาดใหญ่พอควร หน้าผาสูงชัน อยู่ถัดจากผานาน้อยเป็นระยะทางประมาณ 2 กม.
  • ผาแดง อยู่ถัดจากผาเหยียบเมฆเป็นระยะทางประมาณ 1.5 กม.
  • ผาหล่มสัก อยู่ถัดจากผาแดงเป็นระยะทางประมาณ 2.5 กม. อยู่สุดริมภูกระดึงทางทิศตะวันตก เป็นลานหินกว้างและมีสนต้นหนึ่งขึ้นชิดริมผาใกล้กับชะง่อนหินที่ยื่นออกไปในอากาศทางทิศใต้ บริเวณผาหล่มสักนี้มองเห็นทิวทัศน์ของเทือกเขาสลับซับซ้อนในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ สามารถมองเห็นภูผาจิตของอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวในภูเขาฝั่งตรงข้าม และเป็นจุดหนึ่งที่จะชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างชัดเจน

เขตป่าปิด edit

เขตป่าปิดจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวเพียงแค่เดือนเมษายน-พฤษภาคมเท่านั้นและจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง[8] ผู้ที่ต้องการเข้าไปท่องเที่ยวต้องชำระค่าธรรมเนียมและค่าเจ้าหน้าที่นำทาง แต่อาจมีกรณียกเลิกการท่องเที่ยวในป่าปิด ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย เช่น เกิดฝนตกหนักก่อนหรือในเช้าวันเดินทางหรือคาดว่าอาจเกิดฝนตกหนักหรือมีรายงานว่ามีช้างป่ารวมฝูง เส้นทางในป่าปิดก็สามารถแบ่งได้เป็น

  1. เส้นทางน้ำตกขุนพอง จะพบแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ ลานสน น้ำตกหงษ์ทอง และน้ำตกขุนพอง
  2. เส้นทางผาส่องโลก จะพบแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ น้ำตกผาฟ้าผ่า โหล่มฟ้าโลมดิน ผาส่องโลก โหล่นเจดีย์ โหล่นถ้ำพระ และ แง่งทิดหา

จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและตก edit

การชมพระอาทิตย์ขึ้นและตก นักท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบนยอดภู สถานที่ชมพระอาทิตย์ขึ้นนั้นสามารถชมได้ที่"ผานกแอ่น"เพียงแห่งเดียวเท่านั้น การเดินทางไปชมพระอาทิตย์ขึ้นนั้นในบางครั้งต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางไปเพราะมีช้างป่ามาป้วนเปี้ยนในบริเวณนั้น ส่วนการชมพระอาทิตย์ตกนักท่องเที่ยวสามารถชมได้ที่"ผาหมากดูก"ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้บริเวณที่พักมากที่สุด และที่"ผาหล่มสัก"ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแต่ระยะทางไกลจากที่พักมาก

กิจกรรมพิเศษ edit

  • โครงการอาสาสมัครพิทักษ์ภูกระดึง: [10] เนื่องจากปัญหาขยะจำนวนมากที่เกิดจากนักท่องเที่ยว อุทยานจึงโครงการนี้ขึ้น โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องเก็บขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ตามธรรมชาติบนยอดเขานำลงมาทิ้งที่เชิงเขาไม่ต่ำกว่าคนละ 1 กิโลกรัม และทางอุทยานจะมอบใบประกาศเกียรติคุณให้เพื่อแสดงว่าท่านเป็นผู้เสียสละและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อธรรมชาติและสังคม
  • งานแต่งงานบนภูกระดึง: อุทยานแห่งชาติภูกระดึงยังมีอีกตำนานหนึ่งเล่าขานถึงคนหนุ่มสาวที่ได้พบรักและพิสูจน์รักแท้ ณ ที่ภูเขากระดึงซึ่งยอดตัดเป็นรูปหัวใจแห่งนี้ ทางอุทยานแห่งชาติภูกระดึงจึงได้กำหนดจัดงานจดทะเบียนสมหมู่บนยอดภูกระดึงขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 และจัดงานนี้เป็นประจำต่อมาทุกปี[11] ถึงปี พ.ศ. 2553 มีจำนวนผู้ร่วมงานแล้วจำนวน 109 คู่[12]

สิ่งอำนวยความสะดวก edit

อุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกบริการแก่นักท่องเที่ยวได้แก่[13]

  • มีเต็นท์และเครื่องนอนเต็นท์ให้บริการนักท่องเที่ยว และทางอุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์ไว้บนยอดภูกระดีง สามารถรองรับได้ประมาณ 5,000 คน
  • มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยวประมาณ 15 หลัง[8]
  • มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ
  • มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว สามารถรองรับได้ประมาณ 500 คัน
  • มีบริการอาหารและเครื่องดื่มไว้คอยบริการตามจุดต่างๆคือ บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐาน ซำแฮก ซำกอซาง ซำกกโดน ซำแคร่ บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง ผาหมากดูก ผานาน้อย ผาเหยียบเมฆ ผาแดง และผาหล่มสัก
  • มีห้องน้ำและห้องอาบน้ำให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทั้งที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานและบนยอดภูกระดึง

การเดินทาง edit

230px|thumb|right|ผานกเค้า สถานที่แวะพักผ่อนที่สำคัญก่อนถึงอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

รถยนต์[1] edit

  1. เดินทางผ่านจังหวัดสระบุรี เพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก หล่มเก่า ด่านซ้าย ภูเรือ และอำเภอเมืองเลย เลี้ยวเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 (เลย-ขอนแก่น) และเลี้ยวเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2019 เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
  2. ใช้เส้นทางผ่านจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา จนถึงจังหวัดขอนแก่นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ผ่านอำเภอภูผาม่าน และตำบลผานกเค้า เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
  3. เดินทางผ่านจังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 201 ผ่านจังหวัดชัยภูมิ อำเภอภูเขียว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ จากนั้นเดินทางเช่นเดียวกับเส้นทางที่ 2

รถทัวร์ edit

  1. รถทัวร์สายกรุงเทพ-เมืองเลยลงรถที่ผานกเค้า หรือสถานีขนส่งอำเภอภูกระดึงแล้วต่อรถสองแถวเพื่อเดินทางไปยังที่ทำการอุทยาน มีบริษัทให้บริการได้แก่บริษัท ขนส่งจำกัด แอร์เมืองเลย ภูกระดึงทัวร์ ขอนแก่นทัวร์ ศิขรินทร์ทัวร์ และชุมแพทัวร์
  2. รถโดยสารระหว่างจังหวัดที่ผ่านอำเภอภูกระดึงคือ สายขอนแก่น-เมืองเลย และบริษัทนครชัยขนส่ง สาย เลย-พัทยา-ระยอง และ สายนครราชสีมา-เชียงคาน ลงรถที่ผานกเค้า หรือสถานีขนส่งอำเภอภูกระดึงแล้วต่อรถสองแถวเพื่อเดินทางไปยังที่ทำการอุทยานเช่นเดียวกัน

อ้างอิง edit

Template:รายการอ้างอิง

หมวดหมู่:อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

  1. 1.0 1.1 อุทยานแห่งชาติภูกระดึง สำนักอุทยานแห่งชาติ สืบค้นวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553
  2. เส้นทางขึ้นภูกระดึง, ภูกระดึง, มหาวิทยาลัยนเรศวร, สืบค้นวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553
  3. แหล่งท่องเที่ยวตำบลวังกวาง ศูนย์การเรียนรู้น้ำหนาว, สืบค้นวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553
  4. ผู้ว่าฯ เลยสวนทางโพล เตรียมผลักดันกระเช้าภูกระดึง ผ่าน มท.1 ส.ค.นี้ อีสานคลิก, สืบค้นวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553
  5. นักธุรกิจอีสานปลุกชีพกระเช้าขึ้นภูกระดึง อีสานคลิก, สืบค้นวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553
  6. อุทยานแห่งชาติภูกระดึง หมูหิน.คอม สืบค้นวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553
  7. น้ำตกโผนพบ, สำนักอุทยานแห่งชาติ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, สืบค้นวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553
  8. 8.0 8.1 8.2 แผนแม่บท อุทยานแห่งชาติภูกระดึง พ.ศ. 2549 - 2553, สำนักอุทยานแห่งชาติ, สืบค้นวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553
  9. ผานกแอ่น, สำนักอุทยานแห่งชาติ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, สืบค้นวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553
  10. 1ต.ค.เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวพักแรมบนภูกระดึง คม.ชัด.ลึก, 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552
  11. จดทะเบียนสมรสบนภูกระดึง 14 ก.พ.นี้ sanook.com, สืบค้นวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553
  12. ใต้สมุทร-สุดยอดภู ตามติดชีวิตคู่เริ่มต้น, นิตยสาร WHO, สืบค้นวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553
  13. สิ่งอำนวยความสะดวก, อุทยานแห่งชาติภูกระดึง, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, สืบค้นวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553