Wy/th/หนังสือเดินทาง

< Wy‎ | th

หนังสือเดินทางเป็นเอกสารแสดงตนที่ออกให้โดยรัฐบาลของประเทศที่อนุญาตให้ประชาชนของตนเดินทางออกนอกดินแดนของประเทศนั้นได้ (อาจมีข้อจำกัดตามประเทศปลายทาง) และให้ได้รับความช่วยเหลือทางกงสุลจากเจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนของประเทศที่ออกหนังสือเดินทาง (สถานทูตหรือสถานกงสุล) ในต่างประเทศ หนังสือเดินทางเป็นสิ่งจำเป็นสำคัญเบื้องต้นสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งมักจะตามด้วยการตรวจลงตราหรือวีซ่า ซึ่งออกให้โดยประเทศปลายทางที่ต้องการไปเที่ยว (ผ่านสถานทูตหรือสถานกงสุลในประเทศต้นทาง) โดยอาจติดหรือประทับลงในหนังสือเดินทาง อย่างไรก็ดี ทั้งหนังสือเดินทางและวีซ่ามิได้เป็นเครื่องรับประกันว่าจะทำให้นักเดินทางได้เข้าประเทศที่ต้องการ

Typical passport displaying the issuing nation, "passport", and coat of arms.

เมื่อซื้อตั๋วเดินทางระหว่างประเทศผ่านเคาเตอร์ มักจำเป็นต้องแสดงหนังสือเดินทางกับตัวแทนจำหน่าย ในประเทศที่ออกหนังสือเดินทาง อาจใช้หนังสือเดินทางเป็นเอกสารแสดงตนเพื่อรับบริการต่างๆ เช่น เปิดบัญชีธนาคารก็ได้

เนื้อหา edit

อนุสัญญาว่าด้วยหนังสือเดินทางฉบับแรกถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1920 โดยสันนิบาตชาติ (สหประชาชาติในปัจจุบัน) ได้กำหนดให้หนังสือเดินทางทุกเล่มจะต้องมีข้อมูลภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาษาทางการทูตในขณะนั้น ปัจจุบันหนังสือเดินทางทุกเล่มอย่างน้อยต้องมีข้อมูลภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และภาษาราชการของประเทศที่ออกหนังสือเดินทาง หากภาษาราชการไม่ใช่อังกฤษหรือฝรั่งเศส

หน้าปกจะต้องมีข้อความ "passport" และชื่อของประเทศที่ออกหนังสือเดินทางในภาษาประจำชาติ (และอาจมีอีกภาษาเช่นภาษาอังกฤษ) ตราสัญลักษณ์ของประเทศ และสัญลักษณ์พิเศษที่บ่งบอกว่าเป็นหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับประเทศในสหภาพยุโรปต้องมีข้อความ "European Union" (หรือในรูปภาษาอื่น) เหนือชื่อประเทศที่ออกหนังสือเดินทาง

หน้าข้อมูลของหนังสือเดินทางบันทึกข้อมูลพื้นฐาน อันได้แก่ ชื่อและนามสกุลของผู้ถือหนังสือเดินทาง ภาพถ่ายใบหน้า วันและสถานที่เกิด อายุของหนังสือเดินทาง หน่วยงานและสถานที่ออกหนังสือเดินทาง หมายเลขหนังสือเดินทาง วันที่ออกและวันที่หนังสือเดินทางหมดอายุ หนังสือเดินทางจำนวนมากยังมีข้อความให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน หนังสือเดินทางที่ออกในหลายปีมานี้จะมีแถบข้อความทางด้านล่างของหน้าเพื่อให้สามารถอ่านข้อมูลด้วยเครื่อง และช่วยให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลได้เร็วขึ้น

ในบางประเทศ หน้าต่อๆไปเป็นที่สำหรับบันทึกการแก้ไข ซึ่งประเทศผู้ออกหนังสือเดินทางสามารถจำกัดการเดินทาง เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเดินทางไปต่างประเทศ หรือเปลี่ยนแปลงอายุหนังสือเดินทาง นอกจากนี้ยังอาจให้ข้อมูลทางกฎหมาย หรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่นักเดินทาง ตัวอย่างเช่นในหนังสือเดินทางของอเมริกา จะมีหน้า 6 หน้าเกี่ยวกับเว็บและที่ติดต่อสำหรับเรื่องต่างๆ (เช่นข้อจำกัดการเดินทาง ข้อจำกัดการนำเข้า การจ่ายภาษีในขณะอยู่ต่างประเทศ การลงทะเบียนเพื่อพำนักในต่างประเทศ) เรื่องทั่วไป (ไม่ทำตัวให้ตกเป็นเป้าของคนร้าย ระวังภัยความมั่นคง การสูญเสียสัญชาติ) และข้อมูลสำคัญ (หนังสือเดินทางหาย ถูกขโมย ถูกทำลาย ดัดแปลง เสียหาย หรือต้องทำอย่างในเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น)

หน้าในหนังสือเดินทางส่วนใหญ่ กำหนดไว้สำหรับติดวีซ่า จากสถานกงสุล หรือ สถานทูตประเทศต่างๆ ในหน้าเหล่านี้ก็ยังมี ตราประทับจากตรวจคนเข้าเมืองทั้งประเทศของผู้ถือ และประเทศที่เดินทางไป บันทึกเป็นประวัติการเข้าออกประเทศเหล่านั้น

หน้าเพิ่มพิเศษ edit

ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สามารถขอหน้าเพิ่มสำหรับหนังสือเดินทางได้ บางประเทศกำหนดให้มีหน้าว่างสองหน้าในหนังสือเดินทางจึงจะยอมให้เข้าประเทศได้ ถ้าคุณมีหน้าว่างเหลือน้อย ควรเตรียมตัวศึกษาข้อมูลแต่เนิ่นๆ เพิ่งหาทางเพิ่มหน้า (ซึ่งอาจไม่มีค่าใช้จ่ายในบางประเทศ) หรือออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่

หลายประเทศ เช่น แคนาดา ออกหนังสือเดินทางพิเศษ 48 หน้า แทนที่แบบปกติที่มีเพียง 24 หน้า สำหรับผู้เดินทางบ่อย แคนาดาไม่อนุญาตให้เพิ่มหน้าว่างในภายหลัง

บางประเทศออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่ โดยมีลงตราเขียนไว้ว่าย้ายไปต่อเล่มใหม่ หรือยึดติดไว้กับหนังสือเดินทางเล่มเก่า หนังสือเดินทางเล่มเก่าต้องมีหน้าว่างสำหรับให้ลงตราเขียนว่าย้ายไปต่อเล่มใหม่ได้ วิธีการนี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์นอกจากในกรณีที่หมดหน้าว่าง แต่อาจยังเป็นประโยชน์กรณีที่วีซ่ามีอายุยาวกว่าหนังสือเดินทางด้วย

อาจเป็นไปได้ที่บุคคลหนึ่งจะถือหนังสือเดินทางมากกว่าหนึ่งเล่มจากประเทศเดียวกันในเวลาเดียวกัน แม้ว่าบางประเทศจะอนุญาตแต่นี่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ไม่พบบ่อยนัก เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในที่ห่างไกลอาจไม่รู้ว่ามันเป็นไปได้และถูกต้องตามกฎหมายที่จะถือหนังสือเดินทางสองเล่มพร้อมกัน ดังนั้น ควรแสดงหนังสือเดินทางเพียงเล่มที่จำเป็นแก่การผ่านแดนเพียงเล่มเดียว การแสดงเอกสารแสดงตนมากกว่าหนึ่งอย่างโดยมิได้ถูกร้องขออาจทำให้ดูน่าสงสัย

กรณีที่สามารถออกหนังสือเดินทางเล่มที่สอง (หรือแม้แต่เล่มที่สาม) สำหรับบางประเทศ:

  • ถ้าไม่มีหน้าว่างเหลือสำหรับใช้แล้ว แต่หนังสือเดินทางเก่ายังมีวีซาที่ไม่หมดอายุ จำต้องออกหนังสือเดินทางใหม่ และไม่อาจยกเลิกหนังสือเดินทางเก่าได้
  • ถ้าจำต้องส่งหนังสือเดินทางไปให้สองสถานทูตในเวลาเดียวกัน
  • ประเทศอาหรับ เช่น Libya และ Iran จะไม่ให้คนที่เคยเดินทางไปอิสราเอลเข้าประเทศ ดังนี้จึงมีความจำเป็นต้องออกหนังสือเดินทางใหม่อีกเล่ม

ประเภทของหนังสือเดินทาง edit

หนังสือเดินทางทูต edit

ตามชื่อของหนังสือเดินทางประเภทนี้ มักจะให้แก่ทูตและข้าราชการระดับสูง ในบางครั้งผู้ถือหนังสือเดินทางทูตจะได้รับเอกสิทธิ์พิเศษเกี่ยวกับการตรวจลงตราวีซาซึ่งมีหลักเกณฑ์ต่างออกไปจากผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา

หนังสือเดินทางราชการ edit

หนังสือเดินทางนี้ออกให้แก่พนักงานของรัฐเพื่อการเดินทางเกี่ยวกับภารกิจราชการ มักจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับหนังสือเดินทางทูต

หนังสือเดินทางธรรมดา (หรือหนังสือเดินทางนักท่องเที่ยว) edit

นี่เป็นประเภทหนังสือเดินทางที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งจะต้องผ่านเงื่อนไขเบื้องต้นบางประการจึงจะยอมรับได้ว่าเป็นเอกสารสำหรับเดินทางระหว่างประเทศ

หนังสือเดินทางภายใน edit

ในบางประเทศ (เช่น รัสเซีย) มีหนังสือเดินทางภายในใช้สำหรับการเดินทางภายในประเทศ สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศก็ต้องใช้หนังสือเดินทางธรรมดา (หนังสือเดินทางนักท่องเที่ยว) หนังสือเดินทางภายในมีไว้ควบคุมการย้ายถิ่นฐานจากภาคหนึ่งไปอีกภาคหนึ่งในประเทศเดียวกัน ใช้ป้องกันความขัดแย้งหรือความรุนแรงมิให้กระจายออกไปสู่ภาคอื่นๆ

บัตรหนังสือเดินทาง/บัตรผ่านแดน edit

ชาวอเมริกาและแคนดามีพรมแดนติดกันและมีการข้ามไปมาอยู่บ่อยๆ กฎใหม่กำหนดว่าทุกชาติที่เดินทางข้ามแดนต้องมีหนังสือเดินทาง บัตรหนังสือเดินทางเป็นเอกสารที่มีศักดิ์เท่ากับหนังสือเดินทางแต่ไม่ใช่ลักษณะสมุด หากแต่อยู่ในรูปของบัตร ซึ่งใช้ได้เฉพาะการข้ามแดนทางบกและทางน้ำระหว่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา แมกซิโก และ the Caribbean (ทางทะเลเท่านั้น)

ถ้าคุณอาศัยอยู่ในรัฐ Michigan, New York, Vermont หรือ Washington ของสหรัฐอเมริกา คุณสามารถขอ enhanced driver's license (EDL) ซึ่งถือว่าเป็นบัตรหนังสือเดินทางด้วย และใช้ในการกลับเข้าสู่สหรัฐอเมริกาทางทะเลหรือทางบกได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลแคนาดาไม่ถือว่า EDL เป็นหลักฐานทางสัญชาติ เป็นเพียงเอกสารแสดงตนเท่านั้น ดังนั้น EDL จึงไม่สามารถใช้ในการเข้าประเทศแคนาดาได้ยกเว้นจะแสดงพร้อมกับใบเกิดหรือหลักฐานอื่นที่ระบุสัญชาติ

เทคโนโลยีและวิธีการรักษาความปลอดภัย edit

 
บางประเทศกำหนดให้หนังสือเดินทางต้องมีระบบกันปลอมแปลง เพื่อให้ออกวีซ่าแบบ visa on arrival ได้ เช่นหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ หนังสือเดินทางที่อ่านด้วยเครื่องได้ (machine-readable passport) รหัสสำหรับเครื่องอ่านจะปรากฏอยู่ด้านล่างหน้าแรกของหนังสือเดินทาง

วิธีการทำหนังสือเดินทาง มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ยังเหลือหนังสือเดินทางที่เขียนหน้าต่างๆด้วยมือแต่ได้ทยอยยกเลิกวิธีนี้ไป เนื่องจากปลอมแปลงง่าย

นับตั้งแต่ยุค 1990s เป็นต้นมา มีการนำ หนังสือเดินทางอ่านด้วยเครื่องได้ ออกใช้ โดยหน้าข้อมูลส่วนตัวมีการเข้ารหัสเป็นตัวอักษรสองแถวข้างล่างหน้า เป็นการช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ต้องพิมพ์ข้อมูลหลายๆส่วนด้วยมืออีกต่อไป

ตอนนี้ประเทศส่วนใหญ่นำ หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (biometric passport) มาใช้งาน โดยฝังชิป RFID (radio frequency identification device) ซึ่งบันทึกข้อมูลในรูปอิเล็กทรอนิกส์ เช่นข้อมูลหนังสือเดินทาง ภาพถ่าย หรือลายนิ้วมือ ลงในหนังสือเดินทาง (ลายละเอียดขึ้นอยู่กับประเทศที่ออกหนังสือเดินทาง) วิธีการทำงานคือสถานี RFID จะส่งสัญญาณออกมาแล้ว ชิป RFID จะตอบกลับพร้อมข้อมูลที่เก็บไว้บางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรหรือตรวจคนเข้าเมืองสามารถตรวจสอบตัวตนของคุณได้รวดเร็วและแม่นยำ

แต่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความมั่นคงรายงานว่าชิปพวกนี้รุ่นแรกๆ มีระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลไม่ดีพอ ทำให้คนอื่นก็อาจแอบอ่านข้อมูลที่บรรจุในนั้นได้ ซึ่งอาจเป็นปัญหาความมั่นคงหากนักเดินทางอยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่มากๆซึ่งมีบุคคลไม่หวังดีแฝงตัวอยู่ ถ้าคุณกังวลเรื่องนี้ คุณอาจ:

  • สอบถามผู้ออกหนังสือเดินทางถึงมาตรการความปลอดภัยที่มี หนังสือเดินทางบางประเทศ เช่น ของสวิตเซอร์แลนด์ จะไม่ตอบสัญญาณออกมาถ้าไม่เปิดหน้าหนังสือเดินทางออกมา
  • ค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ต
  • เลือกกระเป๋าใส่หนังสือเดินทางที่กันสัญญาณ RFID จนกว่าจะนำหนังสือเดินทางออกจากกระเป๋า กระเป๋าแบบนี้หาซื้อได้จากร้านที่ขายของเกี่ยวกับการเดินทาง

ขอที่ไหน ขออย่างไร edit

ประเทศบ้านเกิดของคุณเป็นผู้ออกหนังสือเดินทางให้แก่คุณ โดยปกติแล้วอยู่ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศ (the State Department สำหรับสหรัฐอเมริกา) ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสำนักงานกระจายออกไปหลายแห่งรวมถึงในต่างประเทศด้วย

  • ในบางประเทศ คุณสามารถเริ่มกระบวนการขอหนังสือเดินทางได้ผ่านเว็บไซต์
  • ในบางประเทศ ไปรษณีย์มีบริการแบบฟอร์มรับใบคำขอหนังสือเดินทาง
  • ถ้าคุณอยู่นอกประเทศบ้านเกิด คุณมักสามารถติดต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลให้ออกหนังสือเดินทางได้

นี่คือรายชื่อหน่วยงานที่ต้องติดต่อสำหรับผู้ถือสัญญาติของประเทศต่างๆ

  • สำหรับประเทศไทย กองหนังสือเดินทาง กรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ ตรวจสอบหน่วยบริการหนังสือเดินทางได้ที่ หน่วยบริการหนังสือเดินทาง
  • สำหรับแคนาดา, the central Passport Office, Department of Foreign Affairs and International Trade, Ottawa, ON K1A 0G3 โทร 800/567-6868 หรือ www.ppt.gc.ca
  • สำหรับสหรัฐอเมริกา, the U.S. State Department ที่ http://travel.state.gov. หรือโทร the National Passport Information Center ที่หมายเลข 877/487-2778 สำหรับบริการข้อมูลอัตโนมัติ
  • สำหรับสหราชอาณาจักร ขอใบสมัครทำหนังสือเดินทางมาตรฐานอายุ 10 ปี (หนังสือเดินทางแบบอายุ 5 ปีสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 16) ที่ passport office ที่ใกล้ที่สุด, ที่ทำการไปรษณีย์ใหญ่ หรือบริษัทท่องเที่ยว หรือติดต่อ the United Kingdom Passport Service โทร 0870/521-0410 หรือที่เว็บไซต์ที่ www.ukpa.gov.uk
  • สำหรับออสเตรเลีย คุณสามารถขอใบสมัครได้ที่ ที่ทำการไปรษณีย์ หรือ Passports Australia สาขาไหนก็ได้ คุณต้องนัดสัมภาษณ์ที่ passport office เพื่อแสดงเอกสารหลักฐานการสมัคร สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ the Australian Passport Information Service โทร 131-232 หรือไปที่เว็บ www.passports.gov.au
  • สำหรับไอร์แลนด์ ให้สอบถาม ณ ที่ทำการไปรษณีย์ขนาดใหญ่ หรือทำหนังสือเดินทางได้ที่ the Passport Office, Setanta Centre, Molesworth Street, Dublin 2 (tel. 01/671-1633, or at 1A South Mall, Cork (tel. 021/272-525) ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จากเว็บไซต์ www.irlgov.ie/iveagh ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือกว่า 65 ปี ต้องทำหนังสือเดินทางแบบสามปีเท่านั้น
  • สำหรับนิวซีแลนด์ คุณสามารถรับใบคำร้องขอมีหนังสือเดินทางได้ที่สำนักงานหนังสือเดินทางทุกแห่งหรือดาวน์โหลดจาก www.passports.govt.nz และตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ดังกล่าว

เมื่อขอหนังสือเดินทางเล่มแรก คุณต้องแสดงเอกสารการถือสัญชาติ (เช่น บัตรประชาชน) พร้อมกับใบสมัคร เมื่อได้หนังสือเดินทางเล่มแรกแล้ว หนังสือเดินทางเล่มดังกล่าว ไม่ว่าจะเก่าแค่ไหน ก็มักใช้เป็นหลักฐานขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่ได้ เวลาสมัครจะต้องมีภาพถ่ายสีหรือถ่ายภาพหน้าตรงแสดงใบหน้าและไหล่ในขนาดที่ถูกต้อง เพื่อติดอยู่ในหนังสือเดินทางที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ถ้าหายจะทำอย่างไร edit

ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย แต่บางคนก็ผ่านเหตุการณ์หนังสือเดินทางหายมาแล้ว ถ้าเกิดเรื่องนี้ขึ้น ให้สูดหายใจลึกๆแล้วติดต่อสถานกงสุลหรือสถานทูตประเทศคุณและเริ่มดำเนินการทำหนังสือเดินทางทดแทนเล่มที่หายไป ซึ่งอาจใช้เวลาสองสามวัน ไปจนถึงสองสัปดาห์ ในการขอหนังสือเดินทางใหม่ในต่างประเทศ ขึ้นกับว่าคุณถือสัญชาติอะไรและอยู่ที่ไหน

บางประเทศยังสามารถทำหนังสือเดินทางฉุกเฉิน ถ้าสามารถทำให้เจ้าหน้าที่เชื่อได้ว่าคุณรีบจนไม่สามารถรอหนังสือเดินทางใหม่ตามกระบวนการปกติได้ หนังสือเดินทางเหล่านี้มักจะหมดอายุภายในหนึ่งปี และมักทำให้ผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองล่าช้าที่สนามบินและชายแดน แต่เวลาที่ใช้ทำหนังสือเดินทางก็น้อยกว่ามาก บางทีก็ทำเสร็จได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และกระบวนการขอจะยิ่งเร็วขึ้นอีกหากมีสำเนาหนังสือเดินทางเดิมที่หายไปซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป บางทีสถานกงสุลหรือสถานทูตต้องการใบแจ้งความจากสถานีตำรวจเพื่อดำเนินการถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถูกขโมยก็ตาม และอย่าลืมนำรูปถ่ายสำหรับทำหนังสือเดินทางไปด้วย

ทำสำเนา edit

นักเดินทางที่มีประสบการณ์มักพกสำเนาถ่ายเอกสารหน้าหนังสือเดินทาง (และเอกสารสำคัญอื่นเช่น วีซ่า) ไว้หลายชุดเวลาเดินทางไปต่างประเทศ คุณควรเก็บสำเนาไว้คนละที่กับเอกสารต้นฉบับ เช่นพับไว้ในกระเป๋าสตางค์ ในกระเป๋าเดินทาง หรือแม้แต่เป็นภาพสแกนในเครื่องคอมพิวเตอร์

  • สำเนาจะเป็นประโยชน์มากโดยเฉพาะเมื่อเดินทางไปยังที่ๆเสี่ยงกับการสูญหาย หรือถูกลักขโมย ถึงไม่มีหนังสือเดินทางตัวจริง สำเนาก็ช่วยคุณไม่ให้ถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจับกุม โดยแสดงสำเนาให้เจ้าหน้าดูเพื่อยืนยันว่าคุณได้เข้าประเทศอย่างถูกต้อง
  • สำเนายังช่วยให้ทำหนังสือเดินทางใหม่ที่สถานทูตหรือกงสุลได้รวดเร็วขึ้น

คุณยังควรทำสำเนาวีซ่าเข้าประเทศอีกด้วย

ให้ใช้หนังสือฉบับจริงเมื่อเจ้าหน้าที่ร้องขอ เช่น เมื่อจะขึ้นเครื่อง ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเวลาเข้าประเทศ หรือเมื่อเดินทางขึ้นเรือสำราญล่องระหว่างประเทศ

  • ถ้าเดินอยู่และถูกเจ้าหน้าที่เรียก สำเนาหนังสือเดินทางพร้อมกับบัตรประชาชนสามารถใช้แทนได้ดีกรณีที่หนังสือเดินทางเก็บอยู่ที่อื่น (เช่นในโรงแรม) เป็นการบอกให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกับทางโรงแรมก่อนแทนที่จะดำเนินการทันที
  • ถ้าโดยสารเรือสำราญ ให้เก็บหนังสือเดินทางตัวจริงในตู้เซฟในห้องและนำสำเนาและบัตรประชาชนแทน นอกจากว่าเจ้าหน้าที่บนเรือจะบอกว่าต้องใช้หนังสือเดินทางสำหรับขึ้นไปบนท่าเรือ

สำเนา ถ้าให้ดีควรเป็นแบบสี อย่างน้อยต้องมีหน้าหลักๆของหนังสือเดินทาง กระดาษแผ่นนึงมีที่พอสำหรับสำเนาหน้าหนังสือเดินทางหลายหน้า

ให้คนอื่นดูหรือรักษาไว้ edit

ในบางประเทศอาจให้ทางโรงแรมถ่ายสำเนาหนังสือเดินทางของผู้เข้าพักเก็บไว้ ถ้าคุณไม่ไว้ใจพนักงานโรงแรม เช่นพนักงานจะต้องออกจากโรงแรมไปถ่ายเอกสาร คุณสามารถเอาสำเนาให้โรงแรมโดยตรง ในบางประเทศ การที่ให้พนักงานต้องนำหนังสือเดินทางไปไกลๆเพื่อถ่ายเอกสารที่เครื่องถ่ายเอกสารเครื่องเดียวที่มี โดยที่หนังสือเดินทางนั้นมีค่ามากกว่าเงินเดือนรวมกันหนึ่งปีของพนักงานมันช่างยั่วยวนจริงๆ ในทุกกรณี คุณไม่ควรมอบหนังสือเดินทางให้คนอื่นไม่ว่าจะเพื่อการรักษาความปลอดภัยไว้หรือไว้เป็นหลักประกัน ยกเว้นว่าได้กำหนดไว้ในกฎหมายหรือเป็นเงื่อนไขขอประกันตัว

วันหมดอายุ edit

ในทางปฏิบัติ วันสุดท้ายที่คุณอาจใช้หนังสือเดินทางได้ไม่ใช่วันหมดอายุ แต่อาจเป็นเวลานานก่อนหน้านั้น เมื่อคุณเริ่มเดินทางระหว่างประเทศ "ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ" (ไม่ว่าจะเป็นเรือบิน หรือเรือเดินสมุทร) โดยส่วนใหญ่จะต้องการให้คุณมีหนังสือเดินทางที่เหลือเวลาใช้ได้อีกพอสมควร โดยปกติแล้วหกเดือน ผู้ให้บริการเหล่านี้ทำไปเพื่อป้องกันความรับผิดชอบทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นหากคุณมีปัญหากับประเทศปลายทาง หรือคุณอาจอยู่นานกว่าที่วางแผนไว้ เช่น โดยอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วย การอยู่จนหนังสือเดินทางหมดอายุหรือวีซ่าหมดอายุอาจเป็นเรื่องร้ายแรง

หากหนังสือเดินทางของคุณมีเวลาเหลืออยู่น้อยกว่าที่กำหนด (โดยสายการบินหรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง) คุณอาจถูกปฏิเสธมิให้ขึ้นเครื่องหรือผ่านด่าน

หนังสือเดินทางของหลายประเทศ (ออสเตรเลีย ชาติในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา) มีอายุถึงสิบปี ในขณะที่ชาติอื่นๆ เช่น แคนาดา มีอายุเพียงห้าปี อย่างไรก็ดีหนังสือเดินทางทุกชนิดย่อมจะต้องหมดอายุ แม้ว่าคุณจะมิได้ใช้มัน บางครั้งอาจต้องใช้เวลานานถึง 3-4 เดือนในการออกหนังสือเดินทางใหม่ จึงพึงระมัดระวังและเตรียมการล่วงหน้าเพื่อป้องกันความผิดหวังและค่าใช้จ่ายในการเร่งรัดการดำเนินการ

ข้อจำกัดอื่น edit

หนังสือเดินทางอาจถือเป็นเอกสิทธิ์ของประชาชนประเทศนั้นๆ ประชาชนอาจต้องคืนหนังสือเดินทางให้เจ้าหน้าที่ในบางเวลาเช่นเมื่อถูกสอบสวนคดีอาญา หนังสือเดินทางที่ออกโดยบางประเทศอาจหมดอายุเร็วกว่าปกติ เช่นเมื่อผู้ถือหนังสือเดินทางมีอายุใกล้ถึงกำหนดการเกณฑ์ทหาร เป็นต้น

ในบางกรณี ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ไม่ดี หรือไม่มีเลย อาจห้ามผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศอื่น (หรือมีตราประทับประเทศอื่น) เข้าประเทศ ตัวอย่างเช่น ผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศอิสราเอล และบางครั้งผู้ถือหนังสือเดินทางที่มีตราเข้า-ออกประเทศอิสราเอล มักถูกห้ามเข้าประเทศส่วนใหญ่ในแถบอาหรับและประเทศอิสลาม

สำหรับคนที่มีสองสัญชาติ ต้องระวังเรื่องต่อไปนี้

  • ถ้าคุณถือหนังสือเดินทางสองเล่มจากสองประเทศ เวลาคุณเข้าประเทศด้วยหนังสือเดินทางเล่มไหน ต้องใช้หนังสือเดินทางเล่มนั้นออกนอกประเทศ
  • บางประเทศยังไม่ยอมรับการมีสองสัญชาติ ดังนั้นคุณอาจเจอปัญหาเมื่อใช้หรือถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยอีกประเทศหนึ่ง ติดต่อประเทศที่ถือสัญชาติทั้งสองก่อนเดินทางเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเวลาเข้าประเทศ
  • บางครั้งคุณจำเป็นต้องเดินทางผ่านประเทศที่สาม เพื่อเก็บหนังสือเดินทางของประเทศหนึ่งไว้ จะได้ไม่โดนยึดหนังสือเดินทางเล่มนั้นเวลาเข้าอีกประเทศที่ถือสัญชาติ

ดูเพิ่ม edit

 

นี่เป็นบทความระดับใช้การได้ บทความนี้มีเนื้อหาครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวกับหัวเรื่อง อย่างไรก็ดี โปรดช่วยกันแก้ไขปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อมูล

Wy/th/Wikipedia:Passport