17 ตุลาคม พ.ศ. 2550
นายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ รองธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาฯ ได้ให้บริษัทในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเจ้าของเบียร์ช้าง เป็นผู้บริหารพื้นที่บริเวณเซ็นเตอร์พ้อยท์ หลังจากสัญญากับคู่ค้ารายเดิมหมดลงในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ เบื้องต้นตามแผนดำเนินงานกลุ่มของนายเจริญ ต้องใช้งบลงทุน 289 ล้านบาท เพื่อสร้างเป็นศูนย์ดิจิตอล ซิตี้ โดยเป็นอาคารสูง 4 ชั้น ซึ่งจะรวมสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในพื้นที่ คาดเริ่มก่อสร้าง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และแล้วเสร็จภายใน 8 เดือน
นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังมีแผนลงทุน 800 ล้านบาท สร้างอาคารจอดรถบนพื้นที่ 3.5 ไร่ บริเวณตรงข้ามโรงแรม โนโวเทล สยาม โดยเบื้องต้นจะสร้างเป็นอาคารสูง 10 ชั้น แต่จะออกแบบโครงสร้างให้สามารถต่อเติมเป็นโรงแรมในอนาคตได้ โดยจะเริ่มก่อสร้างในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เปิดบริการได้กลางปี พ.ศ. 2552
ส่วนพื้นที่ในส่วนของโรงแรม จุฬาฯ จะเปิดให้ผู้สนใจเข้าประมูลและก่อสร้าง โดยน่าจะใช้งบไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโรงแรมระดับกลางประมาณ 3 ดาว ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี
ด้านนายสุเวทย์ ธีวชิรกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ กล่าวว่า บริษัทได้ต่อสัญญาเช่าพื้นที่บริเวณเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์กับจุฬาฯ เป็นเวลา 20 ปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556 - 21 เมษายน พ.ศ. 2576 โดยรวมเป็นผลประโยชน์ตอบแทนทั้งสิ้น 25,378 ล้านบาท เป็นราคาที่สูงที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากเป็นสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ขณะที่สัญญาเดิมเป็นการเช่าที่ดินเพียงอย่างเดียว จะหมดอายุในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556 นี้.
แหล่งที่มา
edit- ไทยรัฐ "'เจริญ' บุกเซ็นเตอร์พ้อยท์ จุฬาฯเลือกให้บริหาร พ่วงต่ออายุเอ็มบีเค 20 ปี". เศรษฐกิจ, 17 ตุลาคม 2550