23 ตุลาคม พ.ศ. 2550
นายวีระวงศ์ แสงนาค รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้ (23 ตุลาคม) ว่า
- ที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ แม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,344 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) /วินาที ลดลงจากวานนี้ (22 ตุลาคม) 54 ลบ.ม./วินาที
- น้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง 471 ลบ.ม./วินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,611 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวานนี้ 16 ลบ.ม./วินาที
- ส่วนที่เขื่อนพระรามหก จ.พระนครศรีอยุธยา ระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักมา 325 ลบ.ม./วินาที ลดลง 51 ลบ.ม./วินาที
- ส่วนที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะเป็นน้ำส่วนที่ไหลมาถึง จ.ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร วันนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,003 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวานนี้ 63 ลบ.ม./วินาที
โดยภาพรวมทุกแห่งมีปริมาณน้ำลดลงเล็กน้อย
นายวีระกล่าวว่า นับว่าปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร เมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 3,066 ลบ.ม./วินาที เป็นปริมาณน้ำสูงสุดในฤดูน้ำหลากช่วงนี้แล้ว ในวันพรุ่งนี้ (24 ตุลาคม) จะลดการระบายที่เขื่อนพระรามหกลงอีกให้เหลือ 300 ลบ.ม./วินาที ให้มีน้ำหลากลงมาถึงกรุงเทพฯ ช่วงน้ำทะเลหนุนสูงวันที่ 27-29 ตุลาคมนี้ ให้น้อยที่สุด คาดว่าจะไม่เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที ตามที่ได้ประสานงานกับกรุงเทพมหานครไว้ว่าจะให้มีน้ำเหนือลงมาไม่เกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที เพราะน้ำบริเวณ จ.นครสวรรค์ ลดลงแล้ว
ด้านรศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า จากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ลงมาถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 3,000 ลบ.ม./วินาที และมีแนวโน้มลดลง ทางกรุงเทพมหานครได้เตรียมการป้องกันและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่จะได้รับผลกระทบไว้แล้ว วันนี้น้ำขึ้นสูงสุดประมาณ 1.70 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ซึ่งอาจกระทบต่อชุมชนริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ เช่น ชุมชนบางกอกน้อย ชุมชนวัดราชผาติการาม เท่าที่ตรวจสอบพบว่าจะมีปัญหาน้ำล้นเข้ามาเมื่อเกิดคลื่นหรือจากเรือแล่นแรงเท่านั้น
รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ กล่าวอีกว่า "แม้ในพื้นที่ กทม.ชั้นใน ยังไม่พบปัญหาน้ำท่วม แต่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ พบว่ามีปัญหาน้ำเอ่อล้นเข้าบ้านเรือนประชาชน"
ส่วนกรณีที่สถาบันเวิลด์ วอตช์ ออกมาระบุว่า กทม. เป็น 1 ใน 21 เมือง จาก 33 ประเทศ ที่จะจมน้ำในปี พ.ศ. 2558 นั้น อาจมีความเป็นไปได้ เพราะปัจจุบันบางพื้นที่ที่ไม่เคยถูกน้ำท่วมก็เริ่มมีน้ำท่วมขัง เกิดจากการพัฒนาพื้นที่ปิดทางน้ำไหล และการขุดบ่อน้ำบาดาล จนทำให้พื้นดินทรุดต่ำ ซึ่ง กทม.ต้องศึกษาเพื่อเปลี่ยนระบบแก้ปัญหาน้ำท่วมใหม่ โดยเฉพาะในฝั่งตะวันออก มีการทำเขื่อนกั้นน้ำอยู่แล้วให้ทำคันระบบปิดล้อมย่อยในแต่ละพื้นที่
แหล่งที่มา
edit- กรุงเทพธุรกิจ "กรมชลฯเผยระดับน้ำเจ้าพระยาพ้นขีดสูงสุดแล้ว กทม.พ้นภัยน้ำท่วม". หนังสือพิมพ์กรุงเทพธ, 23 ตุลาคม 2550
- กรุงเทพธุรกิจ "กทม.ชี้เป็นไปได้กรุงเทพฯจมใต้น้ำปี58 เร่งศึกษาแผนรับมือ". หนังสือพิมพ์กรุงเทพธ, 23 ตุลาคม 2550